สังคมสงเคราะห์ …. 3 ศูนย์แต่เป็นหนึ่ง (?)


สังคมสงเคราะห์ …. 3 ศูนย์แต่เป็นหนึ่ง (?)
 
                                                                   ปพน จูน คิมูระ (พี่จูน)

          พี่เชื่อว่าหลายคนที่สนใจเกี่ยวกับการทำงานเพื่อสังคมหรือการทำงานจิตอาสาจะคุ้นเคยกับคำว่า “สังคมสงเคราะห์จนหลายคนมีความตั้งใจที่จะเข้ามาเรียนในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ไม่ว่าจะเปิดสอนใน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหลายๆแห่งที่เริ่มเปิดสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ตามคณะต่างๆไม่ว่าจะเป็นมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ แต่หลายครั้งพี่เชื่อว่ายังมีความคิดอยู่ในใจเกี่ยวกับการทำงาน ประสบการณ์ และ การนำไปปรับใช้ที่ยังยึดติดกับภาพจำเดิมๆในเรื่องของการเรียนไปเพื่ออะไร หรือ เราเรียนเพื่อช่วยสังคมอย่างที่เขาว่ากัน (?)
 
          พี่เคยพูดคำหนึ่งในความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับคำว่า สังคมสงเคราะห์ ว่าเปรียบเสมือน วิศวกรทางสังคม (สามารถไปหาอ่านบทความในเว็บไซต์ AdmissionPremium) หรือ “หมอสังคม หลายคนคงสับสนในใจว่าสองคำนี้มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องอย่างไร พี่อยากให้นึกถึงเวลาเราทำงานกับใครสักคนที่จะต้องมีบทบาทหลายๆอย่างในเวลาเดียวกันทั้ง การช่วยเหลือ” “การประสานงาน” “การออกแบบและ การรักษา พี่ใช้ 4 คำนี้เปรียบเทียบเพื่อให้ทุกคนมองเห็นว่า การทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ไม่ได้มีบริบทที่ตายตัวและอยู่กับที่เพียงแต่ว่า ณ หน้างานและเป้าหมายที่กำลังทำหน้าที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของกันและกันเพื่อให้คนที่รอความช่วยเหลือได้คุณภาพชีวิตที่เหมาะสมในขณะที่ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์สามารถบรรลุหน้าที่ตามความรับผิดชอบและเกิดประโยชน์สูงสุดขององค์กรแม้บางทีอาจจะต้องเจออุปสรรคและความท้าทายทั้งความเชื่อ ความถูกใจ และ กฎระเบียบที่หลากหลาย
 
          น้องหลายคนจะคุ้นเคยกับว่า เด็กสังเคราะห์ มธแต่หลายคนนึกไม่ถึงว่าใน     การเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นจะมีเปิดอยู่ 2 แคมปัส (ภาคภาษาไทย : สังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต) และ 1 แคมปัส (ภาคอินเตอร์ : แต่จะได้วุฒิศิลปศาสตร์บัณฑิต นโยบายสังคมและการพัฒนา) และมีคนชอบถามพี่ว่า เรียนเหมือนกันหรือแตกต่างกันอาเข้าจริง พี่อยากให้เราลองนึกภาพตามว่า เวลาเราเรียนรู้ในหลักสูตรแน่นอนว่าจะถูกสอนภายใต้ชุดความคิด/มาตรฐานตามที่กำหนด แต่การต่อยอดและความสนใจของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นหลักสูตรและมาตรฐานในการเรียนไม่ว่าจะเป็นที่รังสิต ลำปาง และ ท่าพระจันทร์ มาตรฐานเดียวกันแต่อาจแตกต่างกันที่ว่า การเรียนที่ท่าพระจันทร์จะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษที่พวกคุณต้องมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีในขณะที่ทุกๆหลักสูตรคุณอาจจะมีภาพจำและความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์ นโยบายสังคม สวัสดิการสังคม ที่แตกต่างกันไปโดยเราอาจจะเปรียบเทียบในบริบทของครอบครัว ชุมชน กลุ่มคน หรือ ระดับนานาชาติก็ได้ตามความสนใจที่แตกต่างกัน เราอาจจะเริ่มมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของการเรียนรู้และประสบการณ์จากพี่มาบ้างในหลายบทความที่เคยกล่าวถึงทั้งการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การต่อยอดกับสาขาอื่นๆที่เคยกล่าวไว้ แต่สำหรับบทความนี้พี่มีโอกาสได้ชวนรุ่นน้องที่กำลังศึกษาอยู่ ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ทั้ง 3 คน โดยขอเป็นนามสมมติว่า น้อง A B  และ C ซึ่งศึกษาอยู่ ณ รังสิต ท่าพระจันทร์ และ ลำปาง โดยจะเป็นการเล่าภาพรวมในบริบทที่เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ และ พี่จะสะท้อนร่วมกันผ่านประสบการณ์อีกด้วย (ลองเปิดใจและเรียนรู้ไปพร้อมกันนะครับ : ใช้วิจารณญาณด้วยนะ)
 
จากห้องเรียน…..สู่ชีวิตจริง”


 
          เราอาจจะได้ยินคำว่า การเรียนรู้มีได้ทุกที่และทุกเวลา คำกล่าวนี้อาจจะใช้ได้กับการเรียนรู้ในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่หลายคนอาจนึกแต่เพียงว่าเราเรียนไปเพื่อช่วยคนที่มีปัญหาหรือไม่ (?) ซึ่งจุดนั้นไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเข้าใจเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราเรียนไปแล้วจะไม่สามารถนำไปต่อยอดกับความหลากหลายที่ต้องเจอไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี ทักษะ และ กระบวนการ แล้วด้วยความเป็นวิชาชีพที่ปัจจุบันมีกฎหมายในการคุ้มครองสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (พระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ 2556) รวมถึงอำนาจตามกฎหมายอื่นๆตามกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วยเช่น เด็ก/ผู้ใช้แรงงาน/ผู้ป่วย ฯลฯ จึงทำให้ความหลากหลายในการทำงานมีบริบทที่หลากหลายมากขึ้น ทักษะเบื้องต้นในห้องเรียนที่ถูกฝึกผ่านสถานการณ์และภาพที่ส่งต่อนั้นจะเกิดขึ้นจริงในการฝึกงานที่ไม่ใช่การฝึกถ่ายเอกสารหรือทำงานในสำนักงานเท่านั้น แต่เป็น การทำงานจริง ที่ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ และ สติ เพราะการทำงานกับคนนั้นผิดพลาดไม่ได้ เพราะทุกก้าวที่ตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ การประสานงาน รวมถึง ระยะเวลาล้วนมีผลต่อความต้องการและคุณภาพชีวิตของคนที่ต้องการความช่วยเหลือ หากให้นึกถึงง่ายๆเวลาเราไม่สบายหรือต้องการความช่วยเหลือ เราก็ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดบนพื้นฐานความถูกต้องและเหมาะสม


 
          การทำงานไม่ว่าอะไรก็ตามจะต้องอาศัยความรู้ สติ รวมถึงทักษะที่หลากหลาย และการทำงานกับคนนั้นจะผิดพลาดไม่ได้ เพราะทุกก้าวที่เดินหมายถึงคุณภาพชีวิตและอนาคตของกันและกัน
                                                                                              (พี่จูน , 2019)

 
          สมัยที่พี่เรียนปริญญาตรีมีโอกาสไปฝึกงานกับหน่วยงานหนึ่งที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์ในเรื่องนโยบายสังคมและสวัสดิการแม้จะเป็นการทำงานในเชิงนโยบาย แต่สิ่งที่ได้จากการนำห้องเรียนสู่ชีวิตจริงคือ การมองให้กว้างและลึกโดยไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดกรอบตนเองว่าจะต้องสนใจตามบริบทของหน่วยงานอย่างเดียว บางครั้งชุมชนหรือส่วนอื่นๆที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยคือ ห้องเรียน ที่เราสามารถหยิบจับทักษะ ความคิด และ ความสนใจที่มีเรื่องราวและความท้าทายที่เราสามารถพิสูจน์ตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขและความสัมพันธ์ในฐานะคนที่ทำงานและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้งการเรียนรู้จากการทำงานจริงนั้นเราอาจต้องเจอความท้าทายและความกดดันที่นอกจากความหลากหลายและซับซ้อนของกระบวนการและเป้าหมายที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้ว คน ก็มีส่วนที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า เราเรียนคณะนี้เพื่อช่วยเหลือคนหรือเราต้องกลับมาเยียวยาหัวใจตนเองก่อนเพราะคำว่า ความถูกใจ” “ความถูกต้อง และ ความเหมาะสม แม้เราจะคุ้นเคยกับคำว่า เป็นการช่วยเหลือคนอื่นเพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็ตาม


 
          เราก็คือคนๆหนึ่งเหมือนกันที่จะต้อง Empower ตัวเอง เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็มีหัวใจและความรู้สึกที่แบกรับและมีขีดจำกัดเช่นกัน
                                                                                   (น้อง A , ศูนย์ร้งสิต)

 
การบูรณาการที่ไร้กรอบ …. (?)
          หากนึกถึงสูตรสี่เหลี่ยมที่เรียนกันจะมีหลายสูตรใช่หรือไม่ครับ … แต่คราวนี้จะขอพูดถึงคำว่า กว้าง x ยาว ที่สามารถปรับตามความต้องการและสิ่งที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าการเรียนรู้มันไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำงานกับคนที่ประสบปัญหาเช่น ความยากจน ความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถนำเรื่องนโยบายสังคมและสวัสดิการมาต่อยอดและเชื่อมโยงกับรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปเช่น ความหลากหลายทางเพศ การปรับตัวใน Digital Economy รวมถึง การต่อยอดในภาคธุรกิจที่สามารถนำคำว่า การช่วยเหลือ” “การแบ่งปัน และ ความยั่งยืน มาเป็นสูตรที่ต่อยอด พัฒนา และ เชื่อมโยงโดยอาจไม่เกี่ยวกับการเป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือคนที่ทำงานในระบบราชการเพียงอย่างเดียว ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ก็สามารถนำมาต่อยอดและสร้างความยั่งยืนของกลไกทางสังคมได้เช่นกันผ่านความท้าทายตามสภาพสังคมที่ทุกคนแม้กระทั่งนักสังคมสงเคราะห์เองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ตนเองอยู่รอดและสามารถก้าวต่อไปในสิ่งที่ควรจะเป็นแต่ยังคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพและระเบียบที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนานที่ไม่ใช่แค่ภาพจำแต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ทุกอย่างยังดำรงต่อไป หากมองให้กว้าง ไม่ว่าจะในมิติอุตสาหกรรม การศึกษา สาธารณสุข การคุ้มครองแรงงาน รวมถึงในเรื่องของหลักประกันคุณภาพชีวิตในฐานะที่คุณเป็นส่วนหนึ่งในสังคมและเศรษฐกิจ ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ไม่ใช่แค่เพียงทฤษฎีทางสังคมสงเคราะห์ที่นำไปใช้ในกระบวนการให้ความช่วยเหลือเท่านั้น แต่เราสามารถประยุกต์ให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของกันและกันเช่น การคุ้มครองแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำกับสวัสดิการพื้นฐานที่พึงได้รับ เพราะอย่างน้อยเมื่อคุณอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง การคุ้มครองและความช่วยเหลือที่เหมาะสมย่อมควรได้รับ ไม่ต่างอะไรกับสิทธิและเสรีภาพในฐานะที่คุณเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีคุณค่าและจิตใจเป็นของกันและกันโดยไม่จำเป็นต้องเอาคำว่า การกุศล หรือ ความดี มาเป็นฐานหลักในการบอกว่าสังคมสงเคราะห์จะต้องอิงกับแค่เรื่องเหล่านี้ แต่เราสามารถขยายความสัมพันธ์และเชื่อมโยงสถานการณ์โลกและความจริงให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปได้เสมออย่างไรก็ตาม ความท้าทายหนึ่งในการบูรณาการและต่อยอดจากประสบการณ์นั้นคือ การสร้างความเข้าใจ และ การเปิดใจที่ไม่ยึดติดกับภาพเดิมที่เชื่อว่า สังคมสงเคราะห์คือการเรียนเพื่อแจกของ แต่เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นเช่น นโยบายสังคม การมีส่วนร่วมต่อชุมชน และ การเป็นวิศวกรทางสังคมในสิ่งที่ควรจะเป็นภายใต้ความจริงและประสบการณ์


 
          การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดเมื่อน้องๆได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยแล้วต้องมีการค้นคว้าที่นอกเหนือในห้องเรียน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้เพิ่มเติมให้ทันโลกและคิดว่าในการเรียนรู้อย่างเดียวในมหาวิทยาลัยมันไม่พอต้องมีการทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วย ทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม การยอมรับซึ่งกันและกัน การช่วยเหลือ และ ความสามัคคี การยอมรับความแตกต่างและการแบ่งเวลาให้เป็นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
 
                                                                        (น้อง c , ศูนย์ลำปาง)

 
Empower … Change & Inspire.
          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและมีความท้าทายคือ การพัฒนาศักยภาพของตนเองภายใต้ประสบการณ์และแรงบันดาลใจ จากประสบการณ์ของพี่ตอนที่เรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ พี่มีความสนใจเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในมิติปรากฏการณ์ทางสังคมกับทฤษฎีเฉพาะทางที่สามารถนำมาต่อยอดกับการเรียนรู้ในสาขาวิชาหลักได้เป็นอย่างดีเช่น ความหลากหลายทางเพศ ความขัดแย้งทางสังคม รวมถึง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจอื่นๆโดยไม่จำเป็นที่จะต้องตีกรอบว่าจะต้องมีแรงบันดาลใจและสนใจเพียงแค่ศาสตร์ด้านสังคมสงเคราะห์ที่เรียนในสาขาทั้ง 6 สาขา (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เราสามารถสนใจด้านอื่นและนำมาประกอบกันได้เช่น สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย จิตวิทยา ปรัชญา ฯลฯ โดยปัจจุบันนอกจากจะมีการเรียนการสอนในหลักสูตรภาษาไทยแล้ว หลักสูตรนานาชาติ (Social Policy and Development) ที่เปิดสอน ณ ท่าพระจันทร์มีการบูรณาการการเรียนการสอนที่มีความสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน อันที่จริงตอนแรกที่พี่รู้ว่ามีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ (ปีแรกที่เปิดคือรุ่นเดียวกับที่พี่เข้ามาเรียน : 2557) คำถามแรกที่ตั้งอยู่ในใจเหมือนกันคือ เรียนอะไร” “จะเรียนเหมือนกันไหม จนนานวันเข้าเมื่อผ่านการเรียนรู้และซึมซับแม้จะไม่ได้มีโอกาสทางตรงแต่ทำให้เห็นถึง ความเชื่อมโยง ที่เราสามารถเปลี่ยนความเข้าใจจากภาพเดิมและเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่มองเห็นถึงความเป็นสหสาขาที่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในกรอบเดิมและทำให้เห็นว่า ภาษาอังกฤษ ความรู้ด้านชาติพันธุ์วรรณา วัฒนธรรมท้องถิ่น นโยบายต่างๆ รวมทั้งความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน/อนุสัญญา/สิทธิ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันไปอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากที่เราจะมีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ (เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , กระทรวงแรงงาน , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงสาธารณสุข : ขึ้นกับสาขาวิชาและความเฉพาะทาง) หรือ ภาคเอกชน (ภาคธุรกิจ หรือ ทั่วไปตามความสนใจ) แล้วคุณสามารถทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหากคุณมีทักษะภาษาและมีความสนใจเฉพาะทางที่มีความกว้างขวางอย่างสหวิทยาการ เช่น UN UNHCR  SEAMEO ฯลฯ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ถ้าสนใจ)




 
“Empowering students , Inspiring Change” (SPD Motto)
น้อง B ที่เรียนอยู่หลักสูตรนี้ได้หยิบคำนี้ให้พี่ได้ยินเป็นครั้งแรกที่บอกว่าเป็น Motto ของหลักสูตรทำให้พี่กลับมาคิดต่อจากสิ่งที่น้องที่ลำปางและรังสิตได้สะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติที่ไม่ใช่แค่เพียงการนำศาสตร์และศิลป์ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือคนเท่านั้น แต่เราสามารถที่จะเสริมพลังความคิด แรงบันดาลใจ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ตัวเราเองเท่านั้น แต่เราสามารถเปลี่ยนคนรอบข้างและสังคมได้โดยที่เราไม่รู้ตัว หลายคนอาจจะคิดว่า เป็นไปได้หรอ(?) สำหรับพี่พี่เชื่อว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองไปสู่เส้นทางที่ดีกว่าได้เสมอ เราอาจจะสังเกตจากสิ่งรอบตัวก็ได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป การพัฒนาสังคมย่อมต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแม้ปัญหา/ความท้าทายเดิมๆยังคงอยู่ เราอาจจะลบภาพจำหรืออดีตที่มีอยู่ไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะพัฒนาและสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้แก่กันและกันได้เสมอ เช่นเดียวกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่หลายคนอาจจะมองว่า เป็นคณะแห่งคนใจดี เรียนเพื่อแจกของ หรือ ทำงานด้านสวัสดิการสังคมเท่านั้น แต่จริงๆแล้วยังมีความท้าทายทั้งในการเรียนรู้ การปรับตัวในการทำงานที่ไม่ได้ทำงานเพียงแค่การช่วย การแจก หรือ การทำงานตามนโยบาย แต่เป็นการทำงานกับคนที่หลากหลายและคาดเดาไม่ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนล้วนมีความแตกต่างและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน และเราก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมดแม้จะมีเส้นบางๆของคำว่า “ทางเลือก” และ ความจำเป็น กั้นให้เราคิดต่อนั่นเอง
 
          สำหรับพี่พี่เชื่อว่าการเรียนรู้อย่างสหวิทยาการที่สามารถเชื่อมโยงกันนั้นไม่ได้มีเพียงแค่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์หรือคณะอื่นๆในสายสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่ที่เราจะหยิบความรู้ แรงบันดาลใจ และ เป้าหมายในชีวิตอย่างไรในการพัฒนาตนเองอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่แรกว่า เรามีทางเลือกและสามารถตัดสินใจบนพื้นฐานความเหมาะสมและข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ เช่นเดียวกับประสบการณ์ ความคิดความอ่าน และ การต่อยอดที่พี่สะท้อนผ่านประสบการณ์ทั้งตัวพี่และน้องๆที่เรียนอยู่ ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 3 ศูนย์ ที่หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่สามารถเชื่อมกันได้หรอก แต่แท้จริงแล้ว มันสามารถเชื่อมโยง มองต่อ และ ก้าวต่อ ในเส้นทางและความสนใจที่มีกันและกันได้ เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับน้องๆว่า
 
เราจะเปิดใจหรือปิดหัวใจกับคำพูด/ความคิดเดิมๆละ (?)
พี่จูน (เจ้าของเพจสรุปสังคม ม.ปลาย 4.0 By P’Jun)
 
 
 
 
หมายเหตุ :
  1. หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต (ลำปาง/รังสิต) และ ศิลปศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรสาขานโยบายสังคมและการพัฒนา) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
  1. หากใครสนใจเข้าศึกษาต่อ ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.swhcu.net
  2. หากใครสนใจเข้าศึกษาต่อ ณ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี) สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://huso.pn.psu.ac.th/th/Data/Cirriculum/BA/Brochure/human_BSW.pdf
  3. พี่จูนต้องขอบคุณน้องทั้ง 3 คนที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสนทนา (ทั้ง Online และ แบบตัวต่อตัว) และเป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายในบทความนี้ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการเรียนรู้นะครับ
 
    
พบเทคนิคต่าง ๆ อีกมากมายที่ http://bit.ly/BoostUpLine 
ติดตามเพจที่   https://facebook.com/boostuptutor/