จิตอาสา … ตัวตน กับการทำ Portfolio



จิตอาสา … ตัวตน กับการทำ Portfolio
ปพน จูน คิมูระ
 
        นับถอยหลังเข้าสู่การยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) รวมถึงรอบต่างๆที่กำลังจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พี่เชื่อว่าคนที่กำลังอ่านคอลัมน์นี้คงมีเป้าหมายในใจแล้วเริ่มลงมือทำสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกันไปบ้างไม่ว่าจะเป็น การรวมภาพ การเตรียมเกียรติบัตร รวมถึง การทำกิจกรรมอื่นๆทั้งกิจกรรมที่เราสนใจและกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับคนอื่น
 
        หลายคนอาจจะยังตั้งคำถามกับตนเองอยู่ว่า “จิตอาสา” คืออะไร เพราะปกติการทำกิจกรรมหลายๆสิ่งทำกับทางโรงเรียน มันอาจปฏิเสธไม่ได้ที่กิจกรรมบางอย่างเราต้องทำกับคนอื่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ พัฒนาตนเอง จนไปสู่การหาแรงบันดาลใจและเป้าหมายในชีวิตนั่นคือ “จิตอาสา” แบบหนึ่งที่เราทำด้วยหัวใจ หรือเราอาจจะมองอีกมุมว่าเป็นการทำกิจกรรม/ทำความดีด้วยหัวใจที่เรามุ่งหวังให้สิ่งนั้นเกิดประโยชน์ มีมูลค่าต่อตนเองและส่วนรวมซึ่งแท้จริงแล้วการทำจิตอาสานั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำออกมาไม่ว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะมีความยิ่งใหญ่หรือเป็นกิจกรรมที่เรียบง่าย เช่น การกวาดถนน กิจกรรมกีฬาสี การออกค่ายอาสา รวมถึง การมีส่วนร่วมในสิ่งที่ถูกที่ควร
 
        อย่างไรก็ตามสิ่งที่พี่ชวนคิดต่อจากความเข้าใจเบื้องต้นของคำว่าจิตอาสาผ่านกิจกรรมและประสบการณ์ที่แต่ละคนต่างพบเจอเชื่อว่าหลายคนมีความกังวลใจว่ากิจกรรมหรืองานจิตอาสาที่ทำนั้นจะสามารถประกอบใส่แฟ้มสะสมผลงานของตนได้หรือไม่ หากให้ตอบแบบพื้นฐานพี่อยากบอกว่า “ถ้าไม่เครียดมาก ทุกกิจกรรมสามารถใส่ได้ทั้งสิ้น” แต่การที่เราจะสร้างความดึงดูดที่ไม่ใช่เพียงความสวยงามของ Portfolio เพียงอย่างเดียว เนื้อหาและความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นผลงาน กิจกรรมต่างๆย่อมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการสร้างความสมดุลทั้งตัวตน ผลงาน และสิ่งที่ต้องการสื่อให้คนอ่านแฟ้มได้เข้าใจถึงความสามารถ ตัวตน และ ความตั้งใจที่แท้จริงในการทำแฟ้มสะสมผลงาน พี่ขอแนะนำแนวทางในการหยิบผลงานจิตอาสามาใช้ในการทำ Portfolio 2 ข้อ ได้แก่


 
        1. ความสอดคล้องต่อคณะและสาขาวิชา : แม้ว่าในหลายๆคณะ/มหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยโฟกัสในเรื่องการทำจิตอาสาในการยื่นแฟ้มสะสมผลงานแต่พี่เชื่อว่าในใจลึกๆของแต่ละที่อยากให้คนที่เข้ามานอกจากมีผลงานทางวิชาการที่เข้มข้นแล้ว การทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมควรจะมีด้วยแต่อย่างไรก็ตามการที่จะหยิบผลงานมาอธิบายและนำเสนอให้เป็นรูปธรรมพึงพิจารณาถึงความเหมาะสมที่เราสร้าง Concept ของผลงานไว้อย่างไร และถ้าเป็นไปได้ถ้าเราสามารถศึกษาข่าวสารทางคณะว่าเขาเรียนอะไร มีส่วนร่วมต่อชุมชนและสังคมอย่างไรได้บ้าง แล้วตัวเรามีผลงานอะไรที่พอจะสะท้อนบริบทที่เหมาะสมจะเป็นจุดเด่นร่วมที่น่าสนใจที่สามารถดึงดูดตัวตนและความตั้งใจของเราได้เป็นอย่างดี


 
        2. อย่าโกหกตัวเอง : พี่เคยติดตามอ่านโพสต์ทาง Facebook ของใครหลายคนที่กังวลใจเกี่ยวกับผลงานของตนเองที่มีน้อยหรือแทบไม่มีเลยแล้วมีความกังวลว่าจะติดรอบแรกหรือไม่ หากตอบตามตรงต้องบอกว่า “มีความเสี่ยง” และเชื่อว่าหลายคนมีความคิดที่จะหลอกตัวเองผ่านการปลอมแปลงผลงานเช่น เกียรติบัตร หนังสือรับรองการทำกิจกรรม ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำและยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถพัฒนาและปรับปรุงได้อย่างรวดเร็วอาจเป็นช่องโหว่ของใครหลายคนในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้ว่าทางคณะ/มหาวิทยาลัยสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลได้หลายวิธีเช่น การสัมภาษณ์ (การใช้จิตวิทยา) การตรวจสอบกับหน่วยงานของผลงานนั้นๆ แต่สุดท้ายคนที่ทำย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำดังนั้นโปรดใช้ความสามารถและพิจารณาตนเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป 
 
        สำหรับคนที่กำลังทำแฟ้มสะสมผลงานอยู่ตอนนี้พี่เชื่อว่าหลายคนได้เริ่มวางผลงานและติดต่อขอหนังสือรับรองการทำกิจกรรม/การทำจิตอาสากันไปบ้างแล้วแต่เหนือสิ่งอื่นใดที่เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ “ประสบการณ์” และ “ความทรงจำ” ที่แต่ละคนจะได้รับจากกิจกรรมที่เราสามารถตอบคำถาม ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการบูรณาการกับแฟ้มสะสมผลงานของเราให้มีความโดดเด่น โดนใจ และ พิสูจน์ได้จนสุดท้ายไม่ว่าผลงานจะมากหรือน้อย ขอให้ทำอย่างเต็มที่และเชื่อว่า “ความสำเร็จไม่ได้ไกลเกินที่จะคว้า”
 
เป็นกำลังใจให้นะครับ….พบกันใหม่ตอนหน้า

พบกับคอร์สเรียนออนไลน์จากพี่จูนได้ที่
https://www.boostup.in.th/institute/tutor/77/course

P’Jun (พี่จูน)